Web Analytics
No module Published on Offcanvas position

RoHS มาตรฐานเพื่อสิ่งแวดล้อม

RoHS มาตรฐานเพื่อสิ่งแวดล้อม     

                เวลาเลือกดูสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ หรือใน Datasheet ของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ คงจะเคยเห็นสัญลักษณ์วงกลม ที่มีตัวอักษร “Pb” แล้วคาดด้วยเส้นเฉียง หรือมีเขียนคำว่า “RoHS Compliant” หรือจะเขียนว่า “Pb-Free”, “Green” หรืออะไรก็แล้วแต่ นั่นหมายความว่าอุปกรณ์เหล่านั้น ผ่านตามข้อกำหนดที่เรียกว่า “RoHS” (สัญลักษณ์ของแต่ละยี่ห้อจะแตกต่างกัน เนื่องจากไม่มีสัญลักษณ์ที่เป็นทางการ)               

            RoHS ย่อมาจาก Restriction of Hazardous Substances เป็นข้อกำหนดที่ 2002/95/EC ของสหภาพยุโรป (EU) ว่าด้วยเรื่องของการใช้สารที่เป็นอันตรายในอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและ อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหมายความรวมถึงเครื่องใช้ทุกชนิด ที่ต้องอาศัยไฟฟ้าในการทำงาน เช่น โทรทัศน์ เตาอบไมโครเวฟ วิทยุ เป็นต้นซึ่งหมายความว่า ชิ้นส่วนทุกอย่างที่ประกอบเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้านั้น ตั้งแต่แผงวงจร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไปจนถึงสายไฟ จะต้องผ่านตามข้อกำหนดดังกล่าว โดยสารที่จำกัดปริมาณในปัจจุบัน กำหนดไว้ 6 ชนิด ดังนี้

          1.ตะกั่ว (Pb)                                                  ไม่เกิน 0.10% โดยน้ำหนัก

         2.ปรอท (Hg)                                                  ไม่เกิน 0.10% โดยน้ำหนัก

         3.แคดเมียม (Cd)                                              ไม่เกิน 0.01% โดยน้ำหนัก

         4.เฮกซะวาเลนท์ (Cr-VI)                                     ไม่เกิน 0.10% โดยน้ำหนัก

         5.โพลีโบรมิเนต ไบเฟนนิลส์ (PBB)                          ไม่เกิน 0.10% โดยน้ำหนัก

         6.โพลีโบรมิเนต ไดเฟนนิล อีเธอร์ (PBDE)                  ไม่เกิน 0.10% โดยน้ำหนัก

อย่างไรก็ตามมีข้อยกเว้นสำหรับอุปกรณ์บางอย่าง ที่ยังไม่สามารถใช้สารอื่นมาทดแทนได้ หรือสารที่ใช้ทดแทนมีอันตรายมากกว่า เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ ซึ่งมีสารปรอทเป็นส่วนประกอบ ตะกั่วในเหล็กอัลลอย นอกจากนี้ เครื่องมือด้านการแพทย์ และการทหาร ก็อยู่ในข้อยกเว้น

RoHS มีผลกับใครบ้าง ?

            RoHS เป็นข้อกำหนดที่บังคับใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ซื้อขายในสหภาพยุโรป ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี2006 แต่ในประเทศอื่นๆ เช่น สหรัฐอมริกา ญี่ปุ่น จีน เกาหลี ก็เริ่มที่จะกำหนดข้อบังคับในลักษณะนี้เช่นกัน ดังนั้น ถ้าท่านเป็นผู้ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายดังกล่าว ก็ควรจะเริ่มศึกษาและทำความเข้าใจกับข้อกำหนดนี้ให้มากขึ้น เพราะในอนาคต ข้อกำหนดนี้ก็คงจะแผ่ขยายครอบคลุมไปทั่วโลก

สินค้าประเภทใดบ้างที่อยู่ในข้อกำหนดของ RoHS

ประเทศสมาชิก EU สามารถที่จะกำหนดมาตรการและวิธีการดำเนินการในลักษณะต่างๆของประเทศตนได้ แต่จะต้องเป็นมาตรการที่ส่งผลให้เกิดตามระเบียบที่กำหนดไว้  โดยมีขอบเขตกว้างขวาง ครอบคลุมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกประเภท ทั้งที่ใช้ภายในบ้าน และในอุตสาหกรรมที่จำหน่ายในตลาด EU โดยจำแนกประเภทไว้ 10 ประเภท ดังนี้

  1. เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านขนาดใหญ่ เช่นเครื่องซักผ้า ตู้เย็น
  2. เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านขนาดเล็ก เช่น ที่เป่าผม
  3. อุปกรณ์สื่อสารและสารสนเทศ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ เครื่องคำนวณ เครื่องโทรสาร เป็นต้น
  4. เครื่องใช้อิเล็กทรอนิกส์ภายในบ้าน เช่น โทรทัศน์ เครื่องเล่นซีดี เป็นต้น
  5. อุปกรณ์แสงสว่าง เช่น หลอดฟลูโอเรสเซนต์ หลอดโซเดียม เป็นต้น
  6. เครื่องมือไฟฟ้า เช่น สว่านไฟฟ้า เลื่อยไฟฟ้า จักรเย็บผ้าไฟฟ้า เป็นต้น
  7. ของเล่นและอุปกรณ์กีฬาที่ใช้ไฟฟ้า เช่น วีดีโอเกมส์ ลู่วิ่งไฟฟ้า เป็นต้น
  8. อุปกรณ์การแพทย์ เช่น อุปกรณ์ทางรังสีวิทยาแบบต่างๆ เป็นต้น
  9. อุปกรณ์ตรวจวัดต่างๆ เช่น เทอร์โมสตัด แผงควบคุมต่างๆ เป็นต้น
  10. เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เช่น เครื่อง ATM เครื่องจำหน่ายเครื่องดื่มบรรจุกระป๋อง เป็นต้น

การเลือกใช้อุปกรณ์ Pb-Free

                สำหรับนักอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นผู้ออกแบบวงจร สามารถเลือกใช้อุปกรณ์ที่เป็น Pb-Free หรือ RoHS ได้ โดยผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เกือบทุกยี่ห้อ มักจะผลิตอุปกรณ์รุ่นที่เป็น Pb-Free ออกมาทดแทนอุปกรณ์รุ่นเก่า โดยอาจจะเพิ่มตัวอักษรเช่น ‘G’ เข้าไปใน Part Number แต่ยังคงมีมีฟังก์ชันการทำงานเหมือนกัน สามารถใช้แทนกันได้ สิ่งที่แตกต่างจากเดิมก็คือ อุปกรณ์เหล่านี้จะสามารถทนความร้อนสูงที่ใช้ในกระบวนการประกอบแผงวงจรได้ เนื่องจากสารที่ใช้เชื่อม (ตะกั่ว) ที่เป็นแบบ Pb-Free นี้ จะมีจุดหลอมเหลวที่สูงขึ้นกว่าแบบที่ไม่เป็น Pb-Free แต่สำหรับท่านที่ซื้ออุปกรณ์ที่เป็น Pb-Free มาแล้ว แต่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องผ่านข้อกำหนดดังกล่าว สามารถบัดกรีด้วยตะกั่วแบบธรรมดาได้ ซึ่งจะบัดกรีง่าย และสวยงามกว่า เนื่องจากตะกั่วธรรมดาจะละลายง่าย และมีความเงางามมากกว่าตะกั่วแบบ Pb-Free

สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีการพูดถึงข้อกำหนดในลักษณะนี้มากนัก ดังนั้น หากท่านไม่ได้เป็นผู้ออกแบบเครื่องใช้ไฟฟ้าไปขายในต่างประเทศ ก็ยังไม่ต้องวิตกกังวล แต่ก็ควรจะศึกษาไว้ เพื่อเป็นประโยชน์ในการเลือกซื้อและใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งในอนาคตอุปกรณ์ที่เป็น Pb-Free ก็คงจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น และทดแทนอุปกรณ์แบบเก่าจนหมดไป

การตรวจวิเคราะห์ RoHS ในห้องปฏิบัติการนั้น แม้ว่าจะสามารถทำได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ แต่ต้องแลกด้วยกระบวนการเตรียมตัวอย่างที่ซับซ้อน ทำลายตัวอย่างและอันตรายต่อผู้ปฏิบัติงาน ในปัจจุบันมีอีกหนึ่งเทคนิคที่นิยมใช้วิเคราะห์ในงาน RoHS มากขึ้นนั่นคือเทคนิคการวัดด้วยรังสีเอ็กซ์ แบบเอ็กซเรย์ฟลูออเรสเซนต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งรุ่นที่สามารถพกพา และมีขนาดช่องวัด (Spot Size) ที่เล็กระดับมิลลิเมตร เพื่อสามารถวัดเฉพาะจุดที่ต้องการได้นั่นเอง จึงทำให้ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังไม่ทำลายตัวอย่าง และสามารถวิเคราะห์ได้อย่างรวดเร็วเพียง 1-2 นาทีเท่านั้น

การใช้งานเครื่องวิเคราะห์ด้วยรังสีเอ็กซ์แบบเอ็กซเรย์ฟลูออเรสเซนต์ชนิดพกพา ในงานด้านอื่นๆ สามารถศึกษาได้ที่ https://www.scispec.co.th/portfolio_XRF.html

 

 

Pongsagon Pothavorn